วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไม้เทนนิส



วิธีอ่านบาลานซ์ของไม้ที่มีหน่วยเป็นพ้อยท์ (points, pts)


การบอกวิธีนี้ทำให้เราทราบได้ทันทีว่าไม้นั้นเป็นไม้หัวเบาหรือหัวหนัก เพราะถ้าเป็นไม้หัวหนักมีจุดบาลานซ์เลื่อนจากกลางไม้ไปทางหัว(ตำแหน่ง A) จะบอกไว้ว่า HH ย่อมาจาก Head Heavy เช่น 4pts HH แต่ถ้าเป็นไม้หัวเบามีจุดบาลานซ์เลื่อนจากกลางไม้ไปทางด้าม(ตำแหน่ง C) จะบอกไว้ว่า HL ย่อมาจาก Head Light เช่น 4pts HL เป็นต้น สำหรับไม้ที่มีหัวและด้ามหนักเท่ากันคือมีจุดบาลานซ์อยู่กึ่งกลางไม้พอดี(ตำแหน่ง B) จะบอกไว้ว่า Balance Even หรือ Even Balanced




ตัวเลขที่อยู่หน้าพ้อยท์เป็นตัวบอกถึงความมากหรือน้อยของการมีหัวเบาหรือหัวหนัก ตัวเลขยิ่งสูงแสดงว่ามีค่ามาก โดย 1 พ้อยท์มีระยะทาง = 1/8 นิ้ว ตัวอย่างเช่น ไม้อันหนึ่งมีบาลานซ์ 8pts HL แสดงว่าไม้นั้นเป็นไม้คอนโทรลเพราะมีหัวเบาค่อนข้างมาก มีจุดบาลานซ์อยู่ห่างจากกลางไม้ไปทางด้าม 1 นิ้ว เป็นต้น



 ขนาดของกริ๊พ(ด้ามจับ)ที่เหมาะสม


ขนาด ของกริ๊พที่เหมาะสมสร้างความแตกต่างในสมรรถนะโดยรวมของไม้เป็นอย่างมาก ถ้าไม่แน่ใจว่ากริ๊พของคุณควรมีขนาดเท่าใด มีวิธีค้นหาอย่างง่ายๆอยู่ 2 วิธี

1. จับไม้ด้วยอีสเทอร์นกริ๊พ (ฝ่ามือขนานกับหน้าเอ็น), จะมีช่องว่างอยู่ระหว่างนิ้วนางและฐานของนิ้วโป้ง ช่องว่างนี้ถ้าคุณเอานิ้วชี้ของมืออีกข้างวางลงไปได้พอดีแสดงว่ากริ๊พของคุณ มีขนาดถูกต้อง ถ้าไม่สามารถวางลงไปได้แสดงว่ากริ๊พของคุณเล็กเกินไป แต่ถ้าวางแล้วยังมีที่เหลือแสดงว่ากริ๊พของคุณใหญ่เกินไป กริ๊พที่เล็กเกินไปทำให้ต้องจับไม้แน่นกว่าปกติเพื่อไม่ให้ไม้บิดเป็นสาเหตุ ของการเกิดโรคเทนนิสเอลโบว์ กริ๊พที่ใหญ่เกินไปต้านการเคลื่อนไหวของข้อมือขณะทำการเสิร์ฟ, การเปลี่ยนกริ๊พทำได้ลำบาก, และต้องจับไม้แน่นกว่าปกติ เป็นสาเหตุของโรคเทนนิสเอลโบว์อีกเช่นเดียวกัน





2. ถ้าไม่มีไม้เทนนิสอยู่กับตัว เราสามารถหาขนาดของกริ๊พด้วยการใช้ไม้บรรทัดวัดเอา โดยวัดจากเส้นกลางฝ่ามือไปจนถึงปลายนิ้วนาง อย่าลืมใช้ไม้บรรทัดที่แบ่งนิ้วออกเป็นแปดส่วน วัดได้เท่าไรคือขนาดกริ๊พของคุณ ในภาพได้เท่ากับ 4 1/2 นิ้ว

บางครั้งขนาดของกริ๊พถูกแสดงด้วยเลขตัวเดียว

กริ๊พ 0 = 4
กริ๊พ 1 = 4-1/8
กริ๊พ 2 = 4-2/8 (4-1/4)
กริ๊พ 3 = 4-3/8
กริ๊พ 4 = 4-4/8 (4-1/2)
กริ๊พ 5 = 4-5/8
ข้อควรจำ : การแก้กริ๊พเล็กให้เป็นกริ๊พใหญ่ทำได้ง่ายกว่าการแก้กริ๊พใหญ่ให้เป็นกริ๊พ เล็กมากมายนัก ดังนั้นถ้าติดอยู่ตรงกลางระหว่างกริ๊พ 2 ขนาดให้เลือกขนาดเล็กไว้ก่อน การแก้กริ๊พเล็กให้เป็นกริ๊พใหญ่อาจใช้วิธีพันทับด้วยโอเวอร์กริ๊พหรือใช้ ท่อหดห่อไว้ข้างในชั้นหนึ่งก่อน

กริ๊พและโอเวอร์กริ๊พควรเปลี่ยน ใหม่ตามระยะเวลาที่เหมาะสม กริ๊พที่สด ใหม่ สะอาด ให้สัมผัสที่ดีและช่วยสร้างความมั่นใจ ไม่มีอะไรจะทำร้ายไม้ได้มากไปกว่าการลื่นหลุดจากมือเพราะกริ๊พที่ลื่น





ตัวกันสะเทือน (Tennis Dampener)





ตัวกันสะเทือนเป็นหัวข้อให้ถกเถียงกันอยู่ตามเทนนิสเว็บบอร์ดพอประมาณ เพราะหลายคนทนใช้มันไม่ได้แต่ก็มีอีกหลายคนที่ขาดมันไม่ได้เช่นกัน

โดยหลักการแล้วตัวกันสะเทือนช่วยลดความสั่นสะเทือนที่หน้าเอ็น แต่ก็มีข้อสงสัยถกเถียงกันต่ออีกว่ามันช่วยลดความสั่นสะเทือนของเฟรมด้วยหรือเปล่า

การสั่นสะเทือนที่น้อยลงช่วยทำให้เสียงที่บอลกระทบกับหน้าเอ็นเปลี่ยนไป ไม้บางอันตีแล้วให้เสียงป๊องแป๊งกว่าไม้อันอื่น ตัวกันสะเทือนช่วยเปลี่ยนเสียงที่ดังป๊องแป๊งให้เป็นเสียงที่ฟังแล้วน่าพอใจมากขึ้น มันยังเปลี่ยนฟีลหรือความรู้สึกของไม้อีกด้วยเล็กน้อย และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้บางคนชอบและบางคนไม่ชอบมัน

บางคนใช้ตัวกันสะเทือนช่วยลดเพาเวอร์ของไม้ โดยการขึ้นเอ็นให้ตึงขึ้นและใช้ตัวกันสะเทือนช่วยเสริม

สรุป: ไม่มีฝ่ายถูกและฝ่ายผิดสำหรับกรณีนี้ เป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ เป็นเรื่องความรู้สึกของแต่ละคน แต่ส่วนที่ดีก็คือตัวกันสะเทือนนี้มีราคาไม่แพง คุณจึงสามารถทดลองมันได้ด้วยตนเองซึ่งถ้าชอบก็ดีไป แต่ถ้าไม่ชอบก็ไม่ได้ทำให้สิ้นเปลืองอะไรนัก




เอ็น: ความรู้สึก ความทนทาน ขนาด วัตถุดิบ และการขึ้นเอ็น




เราอาจเปรียบเทียบได้ว่า "เอ็นเป็นจิตวิญญาณของไม้เทนนิส" แต่ผู้เล่นหลายคนไม่ค่อยคิดถึงมันมากนัก พวกเขาอาจใช้เวลาทดลองไม้หลายอันหลายยี่ห้ออยู่ 6 สัปดาห์ และใช้เวลา 6 นาทีเพื่อเลือกเอ็น โชคดีที่เทคโนโลยีการผลิตเอ็นสังเคราะห์ก้าวหน้าไปมากช่วง 20 ปีมานี้ ในท้องตลาดจึงมีเอ็นคุณภาพต่ำอยู่น้อยมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เอ็นทุกชนิดจะเหมาะกับผู้เล่นทุกคน ผู้เล่นแต่ละคนจะมีความพึงพอใจในเอ็นแต่ละชนิดแตกต่างกันไป ซึ่งรายละเอียดต่างๆอาจขึ้นกับหัวข้อต่อไปนี้

ความรู้สึกในการเล่น


เป็นการยากมากๆที่จะให้คะแนนความรู้สึกในการเล่นของเอ็น ผู้เล่นบางคนชอบเอ็นที่ให้ความรู้สึกการตีที่เฉียบขาดแต่ผู้เล่นบางคนชอบความรู้สึกที่นุ่มนวล โดยทั่วไปความรู้สึกในการเล่นที่ดีขึ้นอยู่กับความสามารถในการคืนตัวกลับของเอ็น หมายถึงการหดกลับอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้ยืดตัวตอนเริ่มกระทบกับบอล ทั้งวัสดุที่ใช้ผลิต โครงสร้าง และขนาดของเอ็น ล้วนมีผลต่อความรู้สึกในการเล่น จนถึงปัจจุบันเอ็นที่ให้ความรู้สึกในการเล่น (ความสามารถในการคืนตัวกลับ) ดีที่สุดคือ "เอ็นแท้" หรือ Natural Gut เป็นเอ็นชนิดเดียวที่ทำจากวัสดุธรรมชาติคือทำจากไส้ของวัว เป็นเอ็นเทนนิสที่เก่าแก่ที่สุดแต่ก็ครองความเป็นแชมป์ในเรื่องของความรู้สึกในการเล่นไว้ได้มากที่สุด

ความทนทาน


เอ็นในอุดมคติของพวกเรามักจะเป็นเอ็นที่เพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง แต่โชคไม่ดีที่ในความเป็นจริง เอ็นที่มีความทนทานมากขึ้นจะให้ความรู้สึกในการเล่นน้อยลง เอ็นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเอ็นที่ทำจากวัสดุทนการเสียดสี จะมีความทนทานมากขึ้นแต่ความยืดหยุ่นและการคืนตัวจะลดลง ผู้ที่ใช้เอ็นที่ทำจากไนลอนหรือที่เรียกกันว่าซินเททิค (synthetic gut) ถ้าทำเอ็นขาดบ่อยๆหากใช้ขนาดเกจ 16 อยู่ให้ลองเปลี่ยนเป็นขนาด 15L ดูก่อน ถ้ามากกว่านั้นก็ลองเปลี่ยนไปใช้เอ็นที่ทำจากโพลีเอสเทอร์หรือที่เรียกกันว่าเอ็นโพลี่ ถ้ายังเอาไม่อยู่ลองเปลี่ยนเอ็นเส้นตั้งเป็นเคฟล่าร์ดู คุณสมบัติที่ทนต่อการเสียดสีเป็นพิเศษทำให้เคฟล่าร์เป็นเอ็นที่ทนทานที่สุดในปัจจุบัน

ขนาดของเอ็น


หลักทั่วไป เอ็นยิ่งเส้นเล็กยิ่งให้ความรู้สึก เอ็นยิ่งเส้นใหญ่ยิ่งให้ความทนทาน ขนาดของเอ็นมีหน่วยเป็นเกจเริ่มตั้งแต่เกจ 15 (ใหญ่สุด) ไปถึงเกจ 19 (เล็กสุด) ขนาดที่อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 เกจระบุด้วยตัว L ซึ่งย่อมาจาก Light เช่นขนาด 15L จะเล็กกว่าขนาด 15, เอ็นที่มีขนาดเล็กกว่าจะให้สปินมากกว่า เพราะสามารถฝังตัวลงในลูกบอลได้มากกว่า

ขนาดของเอ็นเป็นเกจพร้อมเส้นผ่าศูนย์กลางเป็น มม.




วัตถุดิบ


เอ็นแท้ - Natural Gut ให้ความรู้สึกในการเล่นหรือการตีลูกมากที่สุดแต่คนไม่ค่อยใช้เพราะมีราคาแพง เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องแขนและสำหรับคนที่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด เคยเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของผู้เล่นใน ATP และ WTA แต่ปัจจุบันถูกนำไปขึ้นผสมกับเอ็นชนิดอื่นมากขึ้น โดยใช้เอ็นโพลี่หรือโพลีเอสเตอร์เป็นเส้นตั้งและใช้เอ็นแท้เป็นเส้นนอน การที่เอ็นแท้ให้ความรู้สึกในการตีได้ดีเพราะมีความยืดหยุ่นสูงหน้าเอ็นจึงมีลักษณะของการอุ้มลูกมากกว่า และผิวเอ็นมีลักษณะของเส้นใยอยู่เล็กน้อยซึ่งช่วยเพิ่มสปินให้กับบอล

ไนล่อน - เอ็นซินเททิคความจริงทำมาจากไนล่อน แต่เป็นไนล่อนเกรดดีไม่เหมือนกับเชือกไนล่อนทั่วๆไป ปัจจุบันผู้ผลิตได้พัฒนาจนเอ็นไนล่อนสามารถให้ความรู้สึกในการเล่นได้ดีรวมทั้งมีความทนทานพอสมควร แต่ก่อนสมัยที่แร็คเก็ตยังทำด้วยไม้ใครๆต่างพากันใช้แต่เอ็นแท้ จะมีผู้ใช้เอ็นไนล่อนก็เฉพาะพวกที่เพิ่งหัดตีเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน 98% ของผู้ที่ไม่ใช่โปรต่างก็ใช้เอ็นไนล่อน

โพลีเอสเทอร์ - เรียกกันสั้นๆว่าเอ็นโพลี่ ออกแบบมาสำหรับพวกที่ทำเอ็นขาดบ่อยๆ เป็นเอ็นที่ไม่ให้เพาเวอร์และฟีลหรือความรู้สึกมากนัก ได้รับความนิยมใน ATP เนื่องจากมีความทนทานและเอ็นไม่เคลื่อนตัวง่าย เหมาะสำหรับผู้เล่น ATP และ WTA บางคนที่ตัวใหญ่กว่า สวิงก์ได้เร็วกว่า และใช้ไม้ที่ให้เพาเวอร์มากกว่าผู้เล่นในอดีต สามารถใช้ร่วมกับเอ็นไนล่อนโดยใช้เอ็นโพลี่เป็นเส้นตั้งและเอ็นซินเททิคเป็นเส้นนอน เพื่อเพิ่มความนุ่มนวลในขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งความคงทน ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่เพิ่งหัดเล่นหรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องแขน

เคฟลาร์ - เป็นเอ็นที่ทนทานที่สุดเท่าที่จะหาได้แล้ว เมื่อขึ้นเสร็จหน้าเอ็นจะแข็งมาก ปกติจึงใช้คู่กับเอ็นไนล่อน (เคฟล่าร์ตั้ง-ซินเททิคนอน) แต่ก็ยังให้เพาเวอร์และความรู้สึกน้อยที่สุดอยู่ดี ผู้ที่เพิ่งเปลี่ยนจากซินเททิคมาเป็นลูกผสมเคฟล่าร์ครั้งแรกจึงควรลดความตึงของเอ็นลง 10% เพื่อลดความแข็ง และเช่นเดียวกันไม่แนะนำสำหรับผู้ที่เพิ่งหัดเล่นหรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องแขน

ความตึงของเอ็น


เริ่มจากกฏทั่วไป เอ็นที่ตึงน้อยลงให้เพาเวอร์มากขึ้น, เอ็นที่ตึงมากขึ้นให้การควบคุมลูกมากขึ้น ผู้เล่นหัดใหม่ (รวมทั้งผู้ที่มีอาการบาดเจ็บของแขน) จึงต้องการความนุ่มนวลของเอ็นที่ขึ้นให้หย่อนเล็กน้อย เพื่อลดแรงสะเทือนจากการตีไม่โดนกลางไม้ ส่วนผู้เล่นที่พัฒนาฝีมือแล้ว สามารถสวิงก์ได้เร็วขึ้น ตีได้แรงขึ้น จึงต้องการเอ็นที่ตึงมากขึ้นเพื่อจะได้ควบคุมลูกได้มากขึ้น แน่นอนว่ากฏทุกกฏต้องมีข้อยกเว้น แต่กฏนี้ใช้ได้กับผู้เล่นส่วนใหญ่ทั่วไป

ไม้แต่ละอันจะบอกย่านความตึงที่เหมาะสมของการขึ้นเอ็นมาจากโรงงานด้วย ตัวเลขนี้ได้จากการทดสอบอย่างดีของผู้เล่นทดสอบ ดังนั้นถ้าไม่มีความต้องการพิเศษ (เช่นมีปัญหาเกี่ยวกับแขน) ให้เริ่มที่ตรงกลางของค่าดังกล่าวก่อนจะทำการปรับขึ้นหรือลงตามความเหมาะสม

การเปลี่ยนไม้อันใหม่


ผู้เล่นบางคนอาจเคยชินกับค่าความตึงของเอ็นที่เคยใช้อยู่เป็นประจำ เมื่อมีการเปลี่ยนไม้ใหม่ให้คำนึงถึงค่าความตึงที่เหมาะสมของไม้อันใหม่ด้วยเช่น ผู้เล่นเคยขึ้นเอ็นด้วยความตึง 60 ปอนด์ แต่ไม้ใหม่มีค่าความตึงที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 50-60 ปอนด์ ก็ควรเริ่มต้นที่ 55 ปอนด์


การเปลี่ยนเอ็นตัวใหม่


 

เมื่อผู้เล่นเปลี่ยนจากเอ็นที่นุ่มกว่า (เอ็นแท้,ไนล่อน หรือเอ็นแท้ผสมไนล่อน) ไปใช้เอ็นในตระกูลโพลีเอสเตอร์ แนะนำให้ลดความตึงของเอ็นลง 5-10% เพื่อชดเชยกับความแข็งของเอ็น การลดความตึงลงนี้เป็นศาสตร์น้อยกว่าศิลป์ ซึ่งคงต้องอาศัยการลองผิดลองถูกเพื่อให้ได้ความรู้สึกที่ใช่ของแต่ละคน สำหรับผู้ที่เปลี่ยนไปใช้เอ็นเคฟลาร์ขอแนะนำว่าวัสดุนี้มีความแข็งกว่าเอ็นไนล่อนซินเททิคมากและแข็งกว่าเอ็นโพลี่เล็กน้อย จึงควรกำหนดความตึงของเอ็นให้เหมาะสม


















1 ความคิดเห็น:

  1. ยอดเยี่ยมเลยครับเป็นประโยชน์มากๆ ขอบคุณที่เอื้อเฝื้อข้อมูลนะครับ

    ตอบลบ